Home » , , » Inside Out (อินไซด์ เอาท์ มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง)

Inside Out (อินไซด์ เอาท์ มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง)

เรื่องย่อ : ในแง่นี้ Inside Out ดูจะเป็นเหรียญอีกด้านของ Toy Story 3 เลยทีเดียว เพียงแค่ย้ายจากภายนอก (ของเล่นตัวแทนของความเป็นเด็ก) เข้าสู่ภายใน (หัวของคนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการก้าวผ่านวัย) โดยสิ่งที่ตัวเอกของเรื่อง ไรลี่ย์ ต้องเผชิญ คือการย้ายบ้านตามครอบครัวไปอีกเมือง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ห้าอารมณ์ที่กำลังทำงานอยู่ในหัวเธอ (สุข, เศร้า, โกรธ, กลัว, แขยง) ต่างตกอยู่ในความชุลมุนวุ่นวาย จน “สุข” และ “เศร้า” ต่างพลัดหลงจากห้องควบคุมออกไปสู่ห้วงความคิดและกลไกการทำงานแห่งอื่นในหัวไรลี่ย์

ทำให้ทั้งสองต่างต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางกลับ แต่การร่วมมือกันนั้นยากกว่าที่คิด เพราะถึง “สุข” จะมองโลกแง่ดีและเป็นมิตรกับทุกคน แต่ตั้งแต่ไรลี่ย์ยังเด็ก เธอก็มอง “เศร้า” ด้วยความสงสัยและรู้สึกลึกๆว่าเป็นอารมณ์ที่ไร้ประโยชน์ เพราะคนเราจะมีความเศร้าให้กับชีวิตไปทำไมกัน… โลกในสมองคนของ Inside Out ถูกทำออกมาได้ไม่ตกมาตรฐาน Pixar คือเต็มไปด้วยจินตนาการชวนตื่นตา และแง่มุมที่อาจไม่คาดคิด แต่ก็คงทำหลายคนพยักหน้าตามอย่างรู้สึกว่ามีเหตุผลเบื้องหลังที่เมคเซนซ์และเข้าถึงได้ (อันโปรดของผมคือตอนไปเจอพื้นที่ “ความคิดนามธรรม” ที่ใช้ความเป็นอนิเมชั่นได้สุดเหวี่ยงมาก) และการเล่าเรื่องคู่ขนานนั้นส่งเสริมกันและกันได้ดีเหลือเกิน เพราะถ้ามองแยกแล้ว เรื่องภายนอก (ไรลี่ย์ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่) กับเรื่องภายใน (อารมณ์พยายามควบคุมการทำงานในหัวให้ราบรื่น) อาจดูธรรมดามาก แต่พอมาเล่าคู่กันและให้สองฝั่งมีผลกระทบกับอีกฝ่ายโดยตรง มันช่วยเพิ่มพลังและผลกระทบทางอารมณ์ได้ดียิ่ง

จนสามารถพาเราอินและหวนกลับไปนึกถึงวัยหนึ่ง ที่ทุกอารมณ์ที่เกิดดูจะมีความรุนแรงเกินเหตุเริ่มต้นไปมากนัก แต่ Pixar แทบไม่เคยหยุดแค่ความสร้างสรรค์ของโลกและความฉลาดในการเล่าเรื่องมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และสิ่งที่ยก Inside Out ให้เข้าสู่ผลงานอันดับต้นๆของค่ายนี้ คือการผสานสองอย่างที่ว่ามาเข้ากับเมสเสจได้แนบเนียนและทรงพลัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมสเสจแหวกแนวที่ไม่นึกว่าหนังฟอร์มยักษ์ที่กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กจะมีกัน คือ ความเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตและการเติบโต และการพยายามจะสุขจนเก็บกดความเศร้าไว้นั้นอาจมีผลเสียมากกว่าผลดี ความจริงแค่นั้นก็เป็นเมสเสจที่แปลกใหม่และมีพลังพอแล้ว

แต่ Inside Out กลับไม่หยุดแค่นั้น มีการผสานเมสเสจนี้เข้ากับอีกประเด็นโปรดของค่าย คือสิ่งที่เราต้องละทิ้งเมื่อผ่านวัยเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่ง Pixar เลือกที่จะจับประเด็นเรื่องนี้อย่างจังและตรงไปตรงมามาก (เพราะความที่เรื่องเกิดในหัวคนสามารถทำให้แสดงภาพประเด็นนี้ออกมาได้ชัดเจนกว่าเรื่องไหนๆ) จนบางช่วงมีพลังการทำลายทางอารมณ์ไม่ต่างจาก Toy Story 3 นัก อันที่จริง หนังเรื่องนี้ดูมีเป้าหมายเอนไปทางคนที่ผ่านวัยรุ่นมาแล้วมากกว่าเด็กเสียอีก เพราะไม่ว่าจะคอนเซ็ปต์ของระบบความคิดหรือประเด็นการเปลี่ยนแปลงของวัย อาจจะมีหลายแง่มุมที่โตเกินเด็กเข้าใจได้ ในขณะที่มันคงกระทบกับผู้ใหญ่ส่วนมากเข้าอย่างจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกวัยย่างเข้าวัยรุ่น ที่หนังเหมือนจะจับความอ่อนไหวของความสัมพันธ์ในวัยนั้นได้อยู่หมัดจริงๆ จนไม่แน่ว่าเรื่องนี้อาจได้เห็นภาพความขัดแย้งของเด็กสนุกกับการ์ตูนสีสันสดใส แต่พ่อแม่กลับร่ำๆน้ำตาจะไหล และแม้หนังจะโปรโมทความสำคัญของความเศร้าและการเรียนรู้เพื่อเติบโต แต่เหมือนเหล่า ผกก.และคนทำอนิเมชั่นที่เป็นพ่อแม่คนเองดูจะมีอารมณ์อาวรณ์ไม่ต่างจากคนดูนัก เพราะท้ายเครดิตหนังกลับจบด้วยข้อความย้อนแย้งถึงลูกพวกเขาเอง..
Share this article :

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น